×
หน้าหลัก > ข้อมูลวิตามินและสารอาหาร > สังกะสี แร่ธาตุมหัศจรรย์ ประโยชน์ครบครัน
สังกะสี แร่ธาตุมหัศจรรย์ ประโยชน์ครบครัน
สังกะสี แร่ธาตุมหัศจรรย์ ประโยชน์ครบครัน
14 Jan, 2024 / By mapleconsumer
Images/Blog/ktX0r1aK-zinc.png

สังกะสี แร่ธาตุมหัศจรรย์ ประโยชน์ครบครัน

 

เมื่อพูดถึง Zinc หรือแร่ธาตุสังกะสี หลายๆ คนอาจจะคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ในเรื่องของการรักษาสิว แก้ผมร่วง เสริมสมรรถภาพทางเพศของผู้ชาย กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และป้องกันการติดเชื้อไวรัส แต่เชื่อหรือไม่ Zinc ยังมีประโยชน์ต่อร่างกายอีกมากมายที่จะช่วยเสริมประสิทธิภาพในการดูแลสุขภาพได้ดียิ่งขึ้น

 

Zinc (ซิงค์) สำคัญอย่างไรกับร่างกาย

 

Zinc (ซิงค์) มีบทบาทสำคัญในการควบคุมให้กระบวนการต่าง ๆ ในร่างกายดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีส่วนช่วยในการทำงานของเอ็นไซม์ต่างๆของร่างกายถึง 300 ชนิด ซึ่งรวมถึงกระบวนการย่อยและเผาผลาญสารอาหารต่างๆ และมีบทบาทหน้าที่เกี่ยวข้องกับการสร้างโปรตีนที่ควบคุมการทำงานของร่างกาย กระบวนการสังเคราะห์สารพันธุกรรม ระบบสืบพันธุ์ ระบบประสาท ฮอร์โมน รวมถึงระบบภูมิคุ้มกัน เช่นการสร้างภูมิคุ้มกัน การเจริญเติบโต การทำงานของฮอร์โมนอินซูลิน

 

ภาวะการขาด Zinc (ซิงค์) เกิดขึ้นกับใครได้บ้าง

 

ภาวะการขาด Zinc (ซิงค์) สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่รับประทานอาหารที่มี Zinc ในปริมาณน้อย ส่วนมากมักพบได้ในผู้คนที่มีอาการท้องเสียเรื้อรัง คนที่ควบคุมอาหารเพื่อลดน้ำหนัก ผู้สูงอายุที่รับประทานอาหารได้น้อยลง นอกจากนี้ยังพบได้ในผู้ที่มียีนผิดปกติ ทารกที่ดื่มนมจากแม่ที่ได้รับ Zinc (ซิงค์) ไม่เพียงพอ ผู้ที่ติดแอลกอฮอล์ หรือผู้ที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกันบางประเภท

 

ผู้ที่ขาด Zinc เป็นเวลานานจะมีอาการแตกต่างกันดังต่อไปนี้

 

  • ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  • ร่างกายการแคระแกร็น สืบเนื่องจากเจริญเติบโตและการพัฒนาของร่างกายผิดปกติ เริ่มต้นสังเกตได้ตั้งแต่วัยเด็ก พบว่ามีพัฒนาการเจริญเติบโตของร่างกายที่ช้า ทำให้เด็กตัวเล็ก
  • สูญเสียการรับรู้รส และกลิ่นเสียไป จนทำให้มีอาการเบื่ออาหาร
  • สมรรถภาพทางเพศลดลงโดยเฉพาะในเพศชาย
  • ผมร่วงมากกว่าปกติ มีปัญหาผมแตกปลาย
  • เล็บเปราะหรือแตกหักง่าย เล็บเป็นจุดสีขาว
  • ผิวพรรณแห้งกร้าน ขาดความชุ่มชื้น บาดแผลหายช้า
  • การทำงานในระบบย่อยอาหาร การทำงานตับอ่อนและเยื่อบุลำไส้ผิดปกติ
  • ท้องเสียเรื้อรัง
  • การมองเห็นผิดปกติ
  • มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลางและการทำงานสมอง รวมทั้ง มีอาการซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย ขาดสมาธิ และเหม่อลอย

 

Zinc ประโยชน์ครบครัน ที่มีต่อสุขภาพร่างกาย

 

หากร่างกายได้รับปริมาณ Zinc (ซิงค์) อย่างเพียงพอ ก็จะทำให้ระบบต่างๆ ทำงานได้อย่างสมบูรณ์ อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพได้เป็นอย่างดี

 

  • Zinc (ซิงค์) ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน Zinc (ซิงค์) มีความสำคัญอย่างมากต่อระบบภูมิคุ้มกัน เนื่องจากร่างกายของเราจำเป็นต้องใช้แร่สังกะสีในการทำงานของเซลล์ระบบภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า T-cells ซึ่งเป็นเซลล์ที่ช่วยในการควบคุมการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติในการช่วยต้านการเพิ่มขึ้นของปริมาณเชื้อไวรัสในร่างกาย (Antiviral) หยุดการเจริญของเชื้อ รวมทั้งการเกาะจับของเชื้อในร่างกาย Zinc (ซิงค์) ยังมีฤทธิ์ต้านอักเสบ จึงช่วยลดการอักเสบที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายเกิดการติดเชื้อ เช่นโรคปอดอักเสบ เป็นต้น อีกทั้งเมื่อเป็นหวัดจะช่วยลดความรุนแรงของอาการ ลดระยะเวลาการเป็นหวัด และหายจากโรคหวัดเร็วขึ้น และหากร่างกายได้รับ Zinc (ซิงค์) ร่วมกับวิตามินซีเป็นประจำทุกวันยังช่วยป้องกันหวัดได้
  • Zinc (ซิงค์) รักษาผมร่วง บำรุงผม และเล็บให้แข็งแรง Zinc (ซิงค์) เป็นแร่ธาตุที่มีช่วยการเจริญเติบโตของเส้นผมและเล็บ โดยมีส่วนสำคัญต่อการสร้างเซลล์ใหม่ซ่อมแซมผมและเล็บที่อ่อนแอให้เจริญเติบโตและแข็งแรงมากขึ้น และยังช่วยควบคุมการทำงานของต่อมไขมันบนหนังศีรษะจึงลดโอกาสการหลุดร่วงของเส้นผมได้
  • Zinc (ซิงค์) ฟื้นฟูบาดแผลให้หายเร็วขึ้น Zinc (ซิงค์) มีส่วนสำคัญในการรักษาความสมบูรณ์และโครงสร้างของผิวหนัง ซึ่งพบว่าในระยะที่ร่างกายต้องการสร้างเซลล์ใหม่หลังผ่าตัดหรือเป็นแผลต่างๆจำเป็นต้องมีขบวนการนี้มากขึ้นเสมอ Zinc (ซิงค์) ช่วยให้ร่างกายมีกระบวนการซ่อมแซม หรือสมานแผลที่รวดเร็วยิ่งขึ้น
  • Zinc (ซิงค์) เสริมสร้างฮอร์โมนเพศชาย ช่วยเพิ่มจำนวนของอสุจิ Zinc (ซิงค์) มีความจำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตของระบบสืบพันธุ์ ปรับสมดุลฮอร์โมนเพศชาย จากการศึกษา พบว่าการรับประทานแร่ธาตุสังกะสีวันละ 24 มิลลิกรัมต่อเนื่อง 45-50 วันช่วยเพิ่มฮอร์โมนเพศชายรวมถึงจำนวนและการเคลื่อนไหวของอสุจิได้อย่างชัดเจนจึงช่วยเพิ่มโอกาสการมีบุตรสำหรับผู้ชายที่มีบุตรยากได้
  • Zinc (ซิงค์) รักษาสิวและสมานแผล Zinc (ซิงค์) เกี่ยวข้องกับการรักษาสมดุลของปริมาณไขมัน ตามรูขุมขนที่ผิวหนัง จึงควบคุมปัญหาการเกิดสิวอุดตันรูขุมขนจากไขมันมากเกินไป นอกจากนี้ยังมีบทบาทลดอาการอักเสบ ป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิว และยังกระตุ้นการสร้างเซลล์ใหม่ให้กับผิว ส่งผลให้เซลล์ผิวที่ถูกสร้างขึ้นใหม่มีสุขภาพดี และยังทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ผิวด้วย
  • Zinc (ซิงค์) ช่วยฟื้นฟูการรับรสชาติและรับกลิ่นได้ดีขึ้น สำหรับผู้ที่มีอาการเบื่ออาหาร รับประทานอาหารได้น้อยลง รับประทานอาหารแบบเดิมๆ และรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้หลายคนมีความเสี่ยงที่ร่างกายจะมีภาวะขาดแร่ธาตุสังกะสีได้ อีกทั้งยังส่งผลต่อต่อสุขภาพ เช่น หน้ามืด อ่อนเพลีย น้ำหนักลดลง และภูมิคุ้มกันในร่างกายลดลง ซึ่งจะส่งผลให้ร่างกายเจ็บป่วยบ่อย ดังนั้นการเสริมซิงค์จะช่วยปรับสมดุลแร่ธาตุสังกะสีให้ร่างกาย และฟื้นฟูการรับรสชาติและรับกลิ่นได้ดีขึ้น จึงสามารถช่วยแก้อาการเบื่ออาหารและสามารถรับประทานอาหารได้มากขึ้น ในส่วนของผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 ในบางรายอาจมีอาการจมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรสหรือเรียกว่าอาการ Long COVID ซึ่งเกิดจากเชื้อโควิดที่แพร่กระจายเข้าไปที่เซลล์ประสาทการดมกลิ่นในโพรงจมูก ทำให้เซลล์ประสาทรับกลิ่นทำงานผิดปกติ ซึ่งการเสริมซิงค์ก็สามารถช่วยฟื้นฟูการรับรสและการได้กลิ่นให้กลับมาเป็นปกติ

 

สังกะสี (Zinc) ควรกินวันละเท่าไหร่

 

ในแต่ละวันเราควรกินอาหารที่มีส่วนประกอบของ Zinc ให้พอเหมาะกับปริมาณที่ร่างกายต้องการ นั่นคือต้องไม่เกิน 40 มิลลิกรัมต่อวัน นอกจากนี้ ยังสามารถแบ่งปริมาณที่เหมาะสมของแต่ละเพศและช่วงวัย ได้ดังนี้

  • ทารกอายุไม่เกิน 2 ปี ควรได้รับวันละ 2-3 มิลลิกรัม
  • เด็กอายุ 6-8 ปี ควรได้รับวันละ 4 มิลลิกรัม
  • เด็กอายุ 9-12 ปี ควรได้รับวันละ 5 มิลลิกรัม
  • เด็กอายุ 13-15 ปี หากเป็นเพศชายควรได้รับวันละ 8 มิลลิกรัม และเพศหญิงควรได้รับวันละ 7 มิลลิกรัม
  • เด็กอายุ 16-18 ปี หากเป็นเพศชายควรได้รับวันละ 9 มิลลิกรัม และเพศหญิงควรได้รับวันละ 7 มิลลิกรัม
  • ผู้ใหญ่เพศหญิง ควรได้รับวันละ 12 มิลลิกรัม
  • หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร ควรได้รับ Zinc มากขึ้นกว่าปริมาณปกติ ประมาณ 2 มิลลิกรัม และ 1 มิลลิกรัม ตามลำดับ
  • ผู้ใหญ่เพศชาย ควรได้รับวันละ 15 มิลลิกรัม

 

แหล่งอาหารที่มีสังกะสีสูง

 

สังกะสีพบได้ในอาหารหลากหลายชนิด แหล่งอาหารที่มีสังกะสีสูง ได้แก่ อาหารทะเล หอยนางรม เมล็ดทานตะวัน เห็ด เนื้อหมู ไข่ ข้าวกล้อง ถั่วลิสง ปลา จมูกข้าวสาลี แป้งงา เมล็ดฝักทอง ธัญพืช เครื่องเทศ ผักโขม เป็นต้น

 

ข้อควรระวังในการรับประทานสังกะสี

 

การรับประทานสังกะสีมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ภาวะขาดทองแดง และภาวะขาดวิตามินบี 6

 

การรับประทานสังกะสีเสริมควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน เพื่อให้แน่ใจว่าได้รับปริมาณที่เหมาะสมและไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ

 


ขอบคุณข้อมูลจาก:

  1. Zinc แร่ธาตุสังกะสี สารอาหารสำคัญ ประโยชน์ครบครัน ของสุขภาพ. https://www.megawecare.co.th/content/5462/zinc-essential-nutrient-for-health-.
  2. อาหารที่มี Zinc มีอะไรบ้าง? มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไร?.https://www.redoxon.co.th/solution-for-immunity/foods-zinc-to-help-immune-system
Like
ความคิดเห็น (0)
ก่อนหน้า 1 ถัดไป
ร้านค้าออนไลน์
© 2006-2024
Vevo Systems Co., Ltd.